ตามที่ได้เกิดผลกระทบอย่างเป็นวงกว้างหลังจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทางภาครัฐได้ออกมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อจนส่งให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชนในภาพรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยังไม่มีเค้าลางถึงแนวทางในเรื่องของการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้างในพื้นที่เมืองเศรษฐกิจหลักของประเทศที่เคยขับเคลื่อนเม็ดเงินจำนวนมหาศาลด้วยอุตสาหกรรมการท่องที่ยวที่มีความชัดเจนเป็นรูปธรรมเท่าไรนั้น
วันที่ 9 ม.ค.2564 ที่โรงแรมแบล็ควูดส์ พัทยา จ.ชลบุรี 8 องค์กรภาคธุรกิจเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และภาคตะวันออก ประกอบด้วย นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี รักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวชลบุรี นายเอกสิทธิ์ งามพิเชษฐ์ นายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา นายพิสูจน์ แซ่คู นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก น.ส.ฐิติภัสร์ ศิรณัฐศรีกุล นายกสมาคมแหล่งท่องเที่ยวชลบุรี นายชัยรัตน์ รัตนโนภาส นายกสมาคมสปาและเวลเนสภาคตะวันออก นายนาวิน ค้าขาย ประธานชมรมร้านอาหารเมืองพัทยา นายสมโชค แก้วทวี ประธานชมรมนักบริหารงานอาหารและเครื่องดื่มมืออาชีพ และ น.ส.ชัญญานุช ร่มโพธิ์ ประธานชมรมผู้บริหารงานต้อนรับหน้าเมืองพัทยา ร่วมแถลงข่าวลงนามหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เรื่อง ขอให้มีการพิจารณาสั่งปิดกิจการเป็นการชั่วคราว และช่วยเหลือผู้ประกอบการ
โดย นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี รักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวชลบุรี กล่าวว่า ผลกระทบจากโควิด-19 อย่างเป็นวงกว้าง นอกจากรายไดเหลักของประเทศจะหายไปแล้ว ความเดือดร้อนที่ตามมาคือผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับความรับผิดอบต่าง ๆ ด้วยตนเอง กลุ่มลูกจ้างที่เคยจ้างงานก็ได้รับผลกระทบตามไปเป็นห่วงโซ่ เนื่องจากไม่มีรายได้ที่สมดุลย์ในการประกอบธุรกิจที่ต้องหยุดชะงักลง ถึงแม้จะมาการยืนเรื่องไปแล้วในเบื้องต้นกับทางจังหวัดชลบุรี แต่ปัจจุบันก็ยังไม่แนวทางความชัดเจนในขณะที่ความเดือดร้อนกำลังแพร่ขยายปกคลุมจนเริ่มบานปลาย กลุ่มองค์กรธุรกิจจึงมีความเห็นร่วมกันในลงนามทำหนังสือเพื่อแสดงออกถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อให้รัฐบาลได้กำหนดแนวทางช่วยเหลือเยียวยาในส่วนนี้ที่มีรูปธรรมมากขึ้น
ขณะที่ นายเอกสิทธิ์ งามพิเชษฐ์ นายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา กล่าวว่า ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากการกำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดแล้ว ต้องมีแนวทางในเรื่องของการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้วย ปัจจุบันแม้ยังไม่มีคำสั่งให้ปิดกิจการชั่วคราว ก็เหมือนถูกปิดกิจการ เพราะไม่มีลูกค้า แต่ผู้ประกอบการยังคงแบกรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งเรื่องการใช้บริการระบบสาธารณูปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟ รวมทั้งค่าใช้จ่ายของพนักงานที่ยังเหลือหลังจากได้มีการปลดออกไปส่วนหนึ่ง ตอนนี้ผู้ประกอบการเหมือนไม่ได้รับความสนใจจากทางภาครัฐเท่าไรนักในเรื่องของการช่วยเหลือและเยียวยา แต่ถ้าหากมีคำสั่งให้ปิดกิจการเป็นการชั่วคราวอย่างเป็นทางการ ก็จะทำให้ผู้ประกอบการและลูกจ้างสามารถเข้ารับการช่วยเหลือในระบบประกันสังคมได้
ด้าน นายพิสูจน์ แซ่คู นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก กล่าวด้วยว่า หากได้รับการพิจารณาในเรื่องขอปิดกิจการดังกล่าว จะทำให้ผู้ประกอบการยังคงรักษาการจ้างงานบางส่วนต่อไปได้ ระบบเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะไม่หยุดนิ่ง ถึงแม้จะไม่เหมือนที่มา แต่ก็ยังมีการขับเคลื่อน ในรายละเอียดการเรียกร้องมาตรการก็มีในเรื่องของการขอขยายเวลาเยียวยากองทุนประกันสังคม การลดการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมนายจ้างและลูกจ้าง ขยายเวลาหรือลดหย่อนค่าน้ำ ค่าไฟ และการพิจารณายกเว้นการจัดเก็บภาษีในส่วนที่เกี่ยวข้อง ขยายเวลาพักชำระหนี้และดอกเบี้ยจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น