เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กรมทางหลวงเดินหน้าก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย - บ้านแพ้ว เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางหลวงหมายเลข 35 หรือถนนพระราม 2 และเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ลงสู่ภาคใต้ของประเทศนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางถนน โดยมีแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560-2579 รวม 21 เส้นทาง ระยะทาง 6,612 กิโลเมตร
เพื่อเสริมศักยภาพระบบการขนส่งทางถนนให้มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยง ครอบคลุม และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ของประเทศ ล่าสุดวันที่ 9 ก.พ. 2564 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงเดินหน้าการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ในส่วนของงานโยธา เพื่อเป็นหนึ่งในโครงข่ายสำคัญในการเดินทางและขนส่ง เชื่อมโยงกรุงเทพมหานครสู่พื้นที่ภาคใต้ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และยังเป็นเส้นทางส่งเสริมการท่องเที่ยวภาคใต้ กระจายรายได้ไปยังภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ยกระดับขีดความสามารถของประเทศอย่างยั่งยืน นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยถึงการก่อสร้างงานโยธา ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว ว่าแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย มีแนว สายทางเชื่อมต่อโดยตรงแบบไร้รอยต่อ (Seamless) กับทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันกรมทางหลวงอยู่ระหว่าง การก่อสร้าง โดยใช้งบประมาณแผ่นดิน วงเงิน 10,500 ล้านบาท ระยะที่ 2 ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว กรมทางหลวงอยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการก่อสร้าง โดยใช้เงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง (กองทุนมอเตอร์เวย์) วงเงิน 19,700 ล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบวันนี้ สำหรับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว มีรูปแบบเป็นทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 ขนาด 6 ช่องจราจรไป-กลับ โดยมีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับโครงการระยะที่ 1 ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย บริเวณ กม. 20+295 ในอำเภอเมืองสมุทรสาคร และสิ้นสุดบริเวณ กม.36+645 ในอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ระยะทางรวม 16.4 กิโลเมตร
สำหรับการก่อสร้างงานระบบ พร้อมการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) กรมทางหลวง จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP โดยระบบเก็บค่าผ่านทางจะใช้เทคโนโลยีการจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น M-Flow เชื่อมต่อทุกโครงข่ายในรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน (Single Platform System) กรมทางหลวงมีแผนดำเนินงานก่อสร้างโครงการฯ ในส่วนของงานโยธาระยะที่ 2 ในช่วงปี 2564-2567 และงานติดตั้งระบบต่าง ๆ ในช่วงปี 2566-2567 โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในต้นปี 2568 ซึ่งการดำเนินโครงการนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ 23,264 ล้านบาท และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจด้านการผลิต การขยายตัวด้านรายได้ และการจ้างงานกว่า 100,000 ล้านบาท อธิบดีกรมทางหลวง กล่าว
ชัช คลอง 5 รายงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น